ทำไมผมถึงให้ความสำคัญกับ PSU ลำดับต้นๆ ถ้าเปรียบเครื่อง PC เหมือนร่างกายมนุษย์ หาก CPU คือสมอง พาวเวอร์ซัพพลายก็เปรียบเสมือนหัวใจที่สูบฉีดเลือดไปยังเส้นเลือดต่างๆเพื่อหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกายนั่นเองครับ หากหัวใจไม่ดี สูบฉีดเลือดไม่สม่ำเสมอ ร่างกายก็มีวูบได้นะครับ โดย PSU จะทำหน้าที่แปลงกระแสไฟฟ้าจาก 220 โวลต์ กระแสสลับ เป็น +3.3 โวลต์, +5 โวลต์ และ +12 โวลต์ กระแสตรง ตามแต่ความต้องการของอุปกรณ์แต่ละชิ้นครับ
หลายคนมักมองข้าม PSU เพราะมองว่ามันไม่ได้ช่วยทำให้เครื่องเร็วขึ้น ก็เลยเลือกมองหาแต่ PSU ราคาถูกๆ บางคนยังคิดว่าซื้อเคสหลักพันก็ได้ PSU ติดมาด้วย แล้วเอาเงินไปซื้ออย่างอื่นดีกว่า ความคิดแบบนี้ เป็นความคิดที่ผิดมหันต์เลยครับ เพราะมันอาจทำให้อุปกรณ์ราคาแพงๆของคุณไม่ว่าจะเป็น เมนบอร์ด การ์ดจอ HDD จากไปก่อนวัยอันควรแน่ๆครับ เพราะว่า PSU ราคาถูกจะใช้วัสดุอุปกรณ์ภายในตามราคามันเลยครับ (ห่วยมากๆ) แล้วคุณจะไว้วางใจให้มันเป็นหล่อเลี้ยงไฟให้กับอุปกรณ์ต่างๆใน PC ของเราเหรอครับ?
- ความแตกต่างระหว่าง PSU ราคาถูก กับ ราคาแพง
PSU ราคาถูก วัสดุก็ตามราคา
PSU ราคาถูกๆ ไส้ในก็ตามภาพเลยครับ คือโล่งๆโจ้งๆ แทบไม่มีอะไรเลย นอกจากที่เห็นเด่นชัดคือพัดลม คาปาซิสเตอร์ขนาดใหญ่ในภาค Rectifier 2 ตัว และฮิตซิงก์ตั้งโด่เด่อยู่ 2 อัน แผง PCB ก็โล่งๆ โดยพวกนี้จะตัดสิ่งที่สำคัญๆออกไป ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันต่างๆที่น่าจะควรมีอาทิเช่น ป้องกันกระแสไฟ/แรงดันเกิน แน่นอนว่าถ้าไฟมาเกิน หรือไฟกระชาก ก็ตัวใครตัวมันล่ะครับ ตามดมกลิ่นไหม้กันเอาเอง ซึ่งพวกนี้จะราคาหลักร้อยหรือจำพวกแถมมากับเคสทั้งนั้นครับ
PSU เทพ แผงวงจรอัดแน่น วัสดุเกรดดี ทนทาน จ่ายไฟก็ราบรื่น
PSU ราคาแพงๆ ไส้ในจะอัดแน่นและจัดเต็มมาก ทั้งวัสดุ คุณภาพในการจ่ายไฟ อย่างที่เห็นตามภาพด้านบนเลยครับ โดยจะมีการใช้คาปาซิสเตอร์คุณภาพสูงจากญี่ปุ่น ทำให้การจ่ายไฟนั้นทำออกมาได้ราบเรียบ สม่ำเสมอ มีวงจร PFC วงจรปรับระดับพัดลม (ในบางรุ่นหากใช้งานไม่หนัก พัดลมก็จะไม่หมุนเลย เพื่อลดเสียงรบกวน) ซึ่งจะมาพร้อมคุณสมบัติในการป้องกันทางไฟฟ้าต่างๆ อาทิ กระแสไฟเกิน กระแสไฟตก แรงดันเกิน มีวงจรในการควบคุมแรงดัน และควบคุมวงจรสวิชชิ่ง ที่ช่วยทำให้การจ่ายไฟ +12V +5V +3.3V นั้นออกมาค่อนข้างนิ่ง ซึ่ง PSU เหล่านี้ราคาค่อนข้างสูงสักหน่อย และส่วนใหญ่มักมีการรับประกันที่ยาวนานถึง 10 ปีเลยล่ะครับ อุ่นใจได้ ไม่สร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ที่คุณรักอย่างแน่นอนครับ โดยมีให้เลือกมากมายหลายรุ่นหลายยี่ห้อด้วยกัน ตัวอย่างเช่น Seasonic / Corsair / ThermalTake / SuperFlower เป็นต้น
- มาตรฐาน 80 Plus คืออะไร เวลาซื้อต้องดูแต่ที่มีตรา 80 Plus ไหม?
ตารางเปรียบเทียบประสิทธิภาพ 80 Plus แบบต่างๆ
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า 80 Plus ไม่ใช่เป็นตัวบ่งบอกว่า PSU ตัวนั้นคือ PSU เทพ บางยี่ห้อเทพๆก็ไม่ได้ตรา 80 Plus (หลายๆคนมักเข้าใจผิดว่า 80 Plus คือการบ่งบอกว่า PSU เทพ) พูดกันภาษาชาวบ้านๆ มันก็เหมือนสติ๊กเกอร์ฉลากประหยัดเบอร์ 5 ที่ กฟผ.เอามาแปะบนเครื่องใช้ไฟฟ้านั่นแหละ ซึ่งใน PSU นั้นจะหมายถึงประสิทธิภาพในประหยัดพลังงานจากการแปลงไฟจากกระแสสลับ AC เป็นกระแสตรง DC ระหว่างรับเข้ากับจ่ายออกนั้นเกินกว่า 80% สมมุติง่ายๆ PSU รับไฟเข้ามา 250W และออกมาได้ 200W โดยอีก 50W สูญเสียกับความร้อน หากคำนวนโดยการ 250W ตั้งหารด้วย 200W จะเท่ากับ 0.8 เมื่อคิดเป็น % ด้วยการคูณด้วย 100 ก็จะเท่า 80% นั่นเอง นั่นหมายความว่า PSU ตัวนี้ให้ประสิทธิภาพในการจ่ายไฟขาออกถึง 80% โดยสุญเสียไปกับพลังงานความร้อนเพียง 50W จึงได้มาตรฐาน 80 Plus นั่นเองครับ
- แล้วเราต้องใช้กี่วัตต์ ไฟ 12V รางเดียว หรือ รางคู่
PSU เดี๋ยวนี้ระบุชัดเจนบน Label เลยว่า รางเดี่ยวหรือรางคู่
หลักๆควรดูว่าอุปกรณ์ภายใน PC ของคุณมีอะไรบ้าง กินไฟกี่วัตต์ ง่ายๆก็ลองเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของ Outervision ได้เลยครับ โดยทำการเลือกตามสเปก PC ที่ท่านใช้งานหรือวางแผนจะประกอบ แต่เลือกให้วัตต์เหลือๆ ดีกว่าวัตต์ขาดแน่นอนครับ เผื่อในอนาคตอาจมมีการขยับขยายเพิ่มเติมอุปกรณ์เข้ามาอีก จะได้สบายใจได้ว่า PSU ที่ซื้อมา สามารถจ่ายไฟได้อย่างเพียงพอครับ
ในด้านการจ่ายไฟแบบระบบราง +12V ใน PSU หลักจะมีอยู่ 2 อย่างนั่นก็คือ แบบรางเดียว (Single-Rail) หลายราง (Multi-Rail) และแบบรางคู่ (Dual-Rail) ก็เป็นจำพวกหนึ่งใน "หลายราง" แต่จะให้พูดถึงว่ารางแบบไหนดีกว่านั้น มันขึ้นอยู่กับคุณภาพหลายๆอย่างภายใน PSU ด้วย รางเดี่ยวออกแบบห่วยๆ วัสดุห่วยๆ มันก็กลายเป็น PSU ที่ห่วยไปได้เช่นกัน ซึ่งในแต่ละราง จะขึ้นอยู่กับการเซ็ทวงจร OCP (Over Current Protection) ของผู้ผลิต PSU ว่าจะตัดไฟแต่ละรางที่กี่แอมป์
โดยระบบราง Rail เปรียบไปก็เหมือนเส้นเลือดนั่นแหละครับ เส้นเลือดขนาดใหญ่ ก็คือ Single Rail เส้นเลือดขนาดเล็กหลายๆ เส้น ก็คือ Multi Rail สมมุติง่ายๆ เวลาการ์ดจอต้องการไฟ +12V ถ้าเป็น Single Rail ก็จ่ายไฟให้ได้เลย เพราะท่อใหญ่อยู่แล้ว ถ้าเป็น Multi Rail ท่อแต่ละท่อก็จะช่วยกันจ่ายไฟให้ ส่วนจะเป็น รางเดี่ยว หรือ หลายราง ก็ไม่แตกต่างเท่าไหร่ เพราะมันก็สามารถรวมไฟ +12V (Combine) จากแต่ละรางได้อยู่ดี
สุดท้ายนี้แอดฯอัจก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกคนที่ติดตามเพจและเว็บไซต์ LoftGame ที่กำลังมองหา PSU หรือพาวเวอร์ซัพพลายดีๆสักตัวนะครับ