บทความ : ประเภทของระบบระบายความร้อน CPU ในคอมพิวเตอร์ PC โดยแอดมินอัจ
ระบบระบายความร้อน CPU (CPU Cooling System) ในเครื่องคอมพิวเตอร์ PC นับเป็นอีกหนึ่ง "ITEM" ที่มีความสำคัญมากๆ เพราะการระบายความร้อนที่ดีนั้น ย่อมทำให้เครื่อง PC ของคุณ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น "ไม่รวน ไม่ค้าง ไม่แฮงค์" และช่วยยืดอายุการใช้งาน CPU ให้นานมากขึ้นนั่นเองครับ
โดยระบบระบายความร้อน CPU แบ่งออกเป็นประเภทหลักๆ ดังต่อไปนี้ครับ
- Heat Sink ที่แถมมากับ CPU
พัดลม CPU ที่แถมมาเมื่อคุณซื้อ CPU ดังในรูปคือของพัดลม CPU ของ Intel
เมื่อคุณซื้อ CPU มาสักตัว ก็จะมี Heat Sink พร้อมพัดลมขนาดพอเหมาะแถมมาด้วย ตัว Heat Sink มักจะทำมาจากอะลูมิเนียมและมีแกนกลางเป็นทองแดง โดยประสิทธิภาพของ Heat Sink ประเภทนี้ จะเหมาะสมกับการใช้งานทั่วๆไป ไม่ได้ใช้งาน CPU หนักๆ หรือ OverClock ใดๆทั้งสิ้น ซึ่งถ้าหากคุณใช้งาน PC แค่ ดูหนัง ฟังเพลง ท่องเน็ต พิมพ์เอกสาร และเล่นเกมนิดๆหน่อยๆ แค่ Heat Sink ที่แถมมากับ CPU ก็เพียงพอแล้วครับ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
- Heat Sink แบบมีท่อนำความร้อน (Heat Pipe)
Heat Pipe ยิ่งเยอะ ประสิทธิภาพในการระบายความร้อน ยิ่งดีมากขึ้น
Heat Sink ประเภทนี้จะยกระดับขึ้นมาจาก Heat Sink ที่แถมมากับ CPU เพราะจะมี Heat Pipe หรือท่อนำความร้อนที่ทำมาจากทองแดงหรือเงินเพิ่มเติมขึ้นมาด้วย ซึ่ง Heat Sink ประเภทนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ (ราคาก็เช่นกัน) ยิ่งมี Heat Pipe เยอะ ประสิทธิภาพในการระบายความร้อนก็จะสูงขึ้นไปด้วย เพราะ Heat Pipe จะทำหน้าที่เป็นตัวนำความร้อนจาก CPU โดยตรง และระบายออกผ่านแผงครีบฟีนอะลูมิเนียมที่เป็นซี่ๆด้านบนนั่นเองครับ Heat Sink ประเภทนี้ส่วนใหญ่จะใช้พัดลมที่มีคุณภาพสูงตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น Heat Sink ของ ThermalTalk Zalman Coolermaster NocTua เป็นต้น นอกจากนี้ในหลายๆรุ่นยังมาพร้อมพัดลมที่มีไฟ LED ทั้งแบบธรรมดาและ RGB ช่วยเพิ่มความสวยงามให้ภายในเครื่อง PC ของคุณด้วย Heat Sink ประเภทนี้จะเหมาะสำหรับการใช้งานหนักๆ เช่นเล่นเกมต่อเนื่องหลายชั่วโมง ตัดต่อวีดีโอ รวมไปถึงการ OverClock ด้วย
ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ (Water Cooling System) เป็นระบบระบายความร้อน CPU ที่ดีที่สุด และมีประสิทธิภาพในการระบายความร้อนสูง เพราะจะใช้ "ของเหลวหรือน้ำหล่อเย็น" ในการช่วยระบายความร้อนที่ออกมาจาก CPU โดยตรง และนำพาความร้อนระบายออกทางแผงฟีนอะลูมิเนียม หรือ หม้อน้ำ (Radiator) นั่นเอง ซึ่งที่แผงนี้ก็จะมีพัดลมช่วยปัดเป่าความร้อนออกไปอีกเช่นเดียวกัน ระบายความร้อนประเภทนี้จะมีหลักการทำงานแบบเดียวกับระบบระบายความร้อนเครื่องยนต์ของรถยนต์เลยครับ โดยในปัจจุบันจะแบ่งออกเป็นสองแบบด้วยกันคือ ชุดน้ำปิด กับ ชุดน้ำเปิด
ชุดน้ำปิด จะหมายถึงชุดระบายความร้อนโดยน้ำแบบ "สำเร็จรูปพร้อมใช้งาน" ซึ่งเราสามารถซื้อมาประกอบใช้งานเข้ากับเมนบอร์ดและเคสได้เลยทันที ไม่มีอะไรยุ่งยาก โดยมีหลายหลายรุ่น หลายราคา และหลายยี่ห้อ อาทิ Corsair Thermaltake Coolermaster NZXT เป็นต้น มาพร้อมลูกเล่นต่างๆ เช่น ไฟ LED RGB 16.7 ล้านสี และทำงานร่วมกับซอฟท์แวร์ ช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับเครื่อง PC
ชุดน้ำเปิด จะหมายถึงระบบระบายความร้อนด้วยน้ำที่สามารถ "Custom" ปรับแต่งรูปแบบได้อย่างอิสระตามใจผู้ใช้งาน ซึ่งในปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะปรับแต่งได้อิสระแล้ว ยังมีความสวยงาม สามารถเลือกน้ำหล่อเย็นได้หลายหลายสีสันตามความต้องการได้ และนอกจากจะระบายความร้อนให้กับ CPU แล้ว ยังสามารถใช้ระบายความร้อนได้ทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น แรม การ์ดจอ อีกด้วย ระบบระบายความร้อนประเภทนี้จะมีราคาและงบประมาณรวมค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องใช้วัสดุและอุปกรณ์เฉพาะตัว และต้องจ้างช่างผู้ชำนาญการในการติดตั้ง ตัดแต่งและดัดท่อให้โค้งงอตามความต้องการอีกด้วย เพราะถ้าหากติดตั้งไม่ถูกต้องหรือขาดความชำนาญการ ก็อาจสร้าง "หายนะ" ได้เลยทีเดียว เช่น น้ำหล่อเย็นในระบบอาจเกิดการรั่วไหลสร้างความเสียหายให้กับเมนบอร์ดและอุปกรณ์ต่างๆภายในเครื่อง PC ได้ ร้ายแรงสุดคือท่อแตกระเบิดเลยทีเดียว เนื่องจากการทำงานของระบบนั้นจะใช้ "ปั้มน้ำแรงดันสูง" ในการดันน้ำให้ไหลเวียนทั้งระบบนั่นเองครับ และหากอุปกรณ์ตัวใดตัวหนึ่งในระบบเสีย การซ่อมแซมจะค่อนข้างลำบากมากๆ เรียกได้ว่า "ถ้าคิดจะเล่นชุดน้ำเปิด ไม่มีวันจบแน่นอน"
และอีกสองระบบสุดท้ายเสริมอีกนิด ขอกล่าวถึงหน่อยละกันเนอะ ไม่กล่าวถึงก็ไม่ครบวงจรระบบระบายความร้อนของ CPU สิ!!
- ระบบระบายความร้อนด้วยไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen Cooling System)
อาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับ User ทั่วไปแบบเราๆท่านๆไปสักหน่อย เพราะเป็นการระบายความร้อนจาก CPU ด้วย "ไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen)" ซึ่งมีอุณหภูมิติดลบได้สูงสุดถึง -200 องศาเซลเซียสกันเลยทีเดียว (แน่นอนว่าไม่เย็นก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว) แต่การใช้ระบบระบายความร้อนนี้ต้องระดับนัก OverClock ระดับประเทศ ระดับโลก หรือต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงกันเลยทีเดียว เพราะต้องใช้ไนโตรเจนเหลวระบายความร้อนออกจาก CPU ที่ทำการ OverClock เพื่อรีดประสิทธิภาพจาก CPU กันแบบสุดๆ เกินกว่าที่จะใช้แค่ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำแบบทั่วๆไป และที่สำคัญนั้นตัวไนโตรเจนเหลวหากใช้งานไม่ถูกวิธี มันก็เป็น "อันตราย" กับตัวผู้ใช้งานมากๆครับ หากไปสัมผัสผิวหนังหรือร่างกายโดยตรง เนื่องจากตัวไนโตรเจนเหลวมันจะถ่ายเทความเย็นไปสิ่งที่มันสัมผัสแบบเฉียบพลันนั่นเอง อาจทำให้เซลล์และเนื้อเยื้อผิวหนังบริเวณที่ถูกไนโตรเจนตายได้ครับ
- ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำมันแร่บริสุทธิ์ หรือน้ำมันแก้ว (Mineral Oil Cooling System)
เมื่อเห็นครั้งแรกหลายคนคงแปลกใจว่า "เห้ย!!! เราสามารถเอาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ลงไปแช่น้ำในตู้ปลาแบบนี้ได้ด้วยเหรอ" ความจริงแล้วไม่ใช่น้ำเปล่า หรือน้ำประปาธรรมดาๆ ที่เราไว้เลี้ยงปลานะครับ แต่เป็น "น้ำมันชนิดหนึ่ง" ที่ได้มาจากกระบวนการกลั่นจากน้ำมันปิโตรเลียม มีลักษณะเป็นน้ำมันใสๆ แต่ไม่มีคุณสมบัติที่นำไฟฟ้านั่นเองครับ จึงสามารถนำเมนบอร์ด การ์ดจอ พาวเวอร์ซัพพลาย ลงไปแช่ในน้ำมันดังกล่าวที่เทใส่ในตู้ปลาได้ (แต่ใส่ปลาลงไปไม่ได้นะ ตายแน่นอน ฮ่าฮ่าฮ่า) แล้วเปิดเครื่องใช้งานกันแบบสบายๆ ไม่พังแน่นอน และช่วยระบายความร้อนได้ดีอีกด้วย ระบบการทำงานหลักๆก็จะคล้ายๆระบบระบายความร้อนด้วยน้ำนั่นแหละ และที่เห็นมันมีฟองอากาศปุดๆนั่นไม่ใช่ออกซิเจนตู้ปลานะ แต่เป็นความร้อนที่ออกมาจากตัว CPU GPU และชิปเซ็ตต่างๆนั่นเอง ก็สวยงามไปอีกแบบ และแหวกแนวดีครับ เห็นบางที่ก็สามารถใช้น้ำมันพืชแทนได้เช่นเดียวกัน แต่มันจะเหลืองๆ ไม่ค่อยสวย
สุดท้ายนี้ แอดมินอัจก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ชาว PC เกมเมอร์ไม่มากก็น้อยนะครับ