รีวิว : Review XBOX SERIES X ที่สุดของเครื่องเล่นเกม Next Gen กับประสิทธิภาพความแรงที่คุ้มค่า
สวัสดีเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ที่ติดตามเพจและเว็บไซต์ LOFTGAME ทุกท่านด้วยนะครับ พบกับผม "อัจ ลอฟท์เกม" และการรีวิวจากเรา LOFTGAME เช่นเคยนะครับ
วันนี้ผมจะมารีวิวเครื่องเล่นเกมที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ไม่น้อยในประเทศไทยของเรา เนื่องจากเครื่องเล่นเกม PlayStation 5 ในปัจจุบันที่หาซื้อค่อนข้างลำบาก และเครื่องรีเซลก็มีราคาแพงหูฉี่เอามาก ๆ แน่นอนครับเครื่องเล่นเกมที่เราจะมารีวิวในวันนี้ นั่นก็คือ XBOX SERIES X จากค่ายผู้ผลิตซอฟท์แวร์ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Microsoft นั่นเองครับ จะเป็นอย่างไรกันนั้น ไปชมกันเลย!!
INTRODUCTION บทนำ
เมื่อกล่าวถึงเครื่องเล่นเกมคอนโซล XBOX แล้ว เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ก็คงรู้จักกันบ้างไม่มากก็น้อย ตั้งแต่ยุค XBOX ตัวแรก / XBOX 360 / XBOX ONE / XBOX ONE S และ X ล่าสุดก็ถึงเวลาสำหรับเครื่องเล่นเกม Generation ใหม่อย่าง XBOX SERIES S และ X สักที โดยทางไมโครซอฟท์ได้เปิดตัวพร้อมกันสองรุ่น เช่นเดียวกันกับยุค XBOX ONE S และ X ครับ
โดยทั้งสองรุ่นจะมีระดับราคาและสเปคที่แตกต่างกันตามงบประมาณ โดยเครื่องที่ผมได้สั่งซื้อจากต่างประเทศและนำเข้ามารีวิวในวันนี้ จะเป็นเครื่อง XBOX SERIES X เป็นตัวท็อปสุดของซีรีย์ครับ ดังนั้นรีวิวนี้จึงถือว่าเป็น Consumer Review คือมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศ เพื่อรีวิวและซื้อมาใช้งานเองครับ
SPECIFICATION สเปกเครื่อง
เรามาดูกันที่สเปก โดยเทียบกันระหว่างรุ่น XBOX SERIES X และ SERIES S ครับ
UNBOX แกะกล่อง
เมื่อแกะฝากล่องออกมา คุณก็จะพบกับตัวเครื่อง XBOX SERIES X ก่อนเลย ซึ่งถูกห่อหุ้มด้วยแผ่นโฟมสีดำอย่างสวยงาม มีกระดาษคำว่า POWER YOUR DREAMS ต่อมาเมื่อเราแกะกล่องด้านบนตัวเครื่อง ก็จะพบกับจอย XBOX SERIES X / สายไฟ AC 3 ขา / สาย HDMI High Speed ที่รองรับ HDMI 2.1 และคู่มือการการใช้งานแผ่นเล็ก ๆ บาง ๆ
สัมผัสแรกกับจอย XBOX SERIES X กันก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้ซื้อจอยสีแดง PULSE RED มาด้วย เลยขออนุญาตอวดตัวจอยสีแดงแทนละกัน (เพราะสีดำที่แถมมากับเครื่องมันปกติธรรมดาไป) เมื่อเทียบกับจอย XBOX เจนก่อนหน้า เปลี่ยนโฉมไปพอสมควร เพิ่มเติมคือมีปุ่ม Share เพื่อให้สามารถบันทึกภาพหน้าจอแล้วแชร์ลงโซเชียลมีเดียได้เลย และเมื่อเทียบกับเจ้า DualSense ของฝั่ง PS5 แล้ว ก็มีขนาดใกล้เคียงกัน แต่น้ำหนักเบากว่า โดยใช้วัสดุเป็นพลาสติกสีขาวและสีแดงแบบด้าน ๆ ด้วยการมีรูปทรงที่ใหญ่ ทำให้การจับดูเต็มไม้เต็มมือมากขึ้น ด้านหลังมีลาย Texture เป็นจุด Dot ช่วยทำให้ยิ่งกระชับมือไม่ลื่นเหงื่อ ตัวโลโก้ XBOX จะมีไฟ LED สีขาว ซึ่งใช้เป็นไฟแสดงสถาานะทั้งการเชื่อมต่อจอยกับเครื่อง และแสดงว่าจอยกำลังใช้งานอยู่ (ไม่ได้แสดงผลได้หลายหลายสีแบบบน Touchpad ของ Dualsense นะ) มีพอร์ตการเชื่อมต่อแบบ USB Type-C ตามยุคสมัย ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 mm. พอร์ตเชื่อมต่อ Accessories เช่น Keypad และใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ขนาด AA จำนวน 2 ก้อน แนะนำให้ใช้แบตเตอรี่แบบชาร์จใช้ซ้ำได้จะคุ้มกว่า หรือจะซื้อแบตเตอรี่สำเร็จรูปของทาง XBOX เอง ซึ่งสามารถชาร์จได้ผ่านการเสียบสายชาร์จที่พอร์ต USB Type-C ก็สะดวกดีครับ
ต่อมาไม่รอช้า เรามาที่ตัวเครื่องกันเลยดีกว่าครับ เมื่อเปิดแผ่นโฟมสีดำที่ห่อเครื่องมา คุณก็จะพบกับหน้าตาของเจ้าเครื่อง XBOX SERIES X ของจริงกันสักที มาพร้อมดีไซน์ตัวเครื่องสี่เหลี่ยมโทนสีดำด้าน ดูธรรมดา ๆ แต่ให้ล้ำสมัย จนมีการแซวกันว่ามันคล้ายตู้เย็น ซึ่งในเวลาต่อมาก็ถูกผลิตเป็นตู้เย็นขายจริง ๆ ซะอย่างนั้น ด้านบนของตัวเครื่องจะมีรูระบายอากาศขนาดใหญ่ ด้านในมีพลาสติกสีเขียว เวลาามองมุมเฉียงเราจะเห็นมันผ่านช่องระบายอากาศนับเป็นจุดหนึ่งทำให้ตัวเครื่องดูโดดเด่นสวยงาม ด้านหลังเครื่องก็มีช่องดูดอากาศขนาดใหญ่เช่นกัน โดยจะดูดลมเย็นจากหลังเครื่องเพื่อระบายความร้อนออกทางด้านบนเครื่อง แต่พลาสติกด้านของ XBOX SERIES X จะแปลก ๆ อย่างหนึ่งคือ มันเป็นรอยคราบมันจากนิ้วมือง่ายมาก ๆ แต่ก็สามารถใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดเครื่องได้ง่ายเช่นกัน
ปุ่มและพอร์ตการเชื่อมต่อต่าง ๆ ของ XBOX SERIES X มีดังนี้
ด้านหลัง
- ช่องเสียบสายไฟ AC
- พอร์ต HDMI OUT
- พอร์ต LAN 1Gbps
- USB 3.1 จำนวน 2 ช่อง
- ช่องสำหรับเสียบ STORAGE EXPENSION CARD
ด้านหน้า
- ปุ่มเปิด-ปิด
- ช่องสำหรับใส่แผ่น Blu-ray Ultra HD พร้อมปุ่ม Eject
- ปุ่มสำหรับเชื่อมต่อจอย พร้อม Infrared ในตัวสำหรับใช้กับรีโมทคอนโทรล
- USB 3.1 จำนวน 1 ช่อง
ด้านการใช้งานครั้งแรก
เสียบปลั้ก กดสวิตซ์ที่หน้าเครื่องได้เลย จากนั้นก็เชื่อมต่อจอยก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นให้ทำการตั้งค่าต่าง ๆ ของเครื่อง ไม่ว่าเป็นการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ล็อกอิน XBOX ID เมื่อตั้งค่าอะไรต่าง ๆ จนแล้วเสร็จก็มาถึงหน้า Home ของเครื่อง XBOX SERIES X อันสวยสดงดงามแล้ว (ด้านการตั้งค่าการใช้งานอย่างละเอียด วิธีการเพิ่มบัตรเครดิต และวิธีการซื้อเกมในสโตร์ประเทศต่าง ๆ รวมไปถึง Xbox Game Pass แนะให้เข้ากลุ่ม Xbox Series X/S Thailand ได้เลยครับ)
เมนูและ User Interface ของ XBOX SERIES S/X แรก ๆ อาจสร้างความสับสน งง และใช้งานค่อนข้างยากเล็กน้อย ถ้าคุณใช้งานฝั่ง PlayStation มานาน ในหน้าแรกของ HOME จะแสดงเกมที่เราเล่นล่าสุดขึ้นมาแค่ 7 เกม เท่านั้น เล่นอันไหนก็ขึ้นอันนั้นอยู่เป็นอันดับแรก และดันอันเก่าเลื่อนไปจนหายไป ต้องไปเลือกหาใน My games & apps แทน ซึ่งมี 3 หมวด คือ Games / Apps / Groups โดยเกมทั้งหมดที่ติดตั้งบนเครื่อง โดยสามารถเลือกหมวดได้ เช่น เป็นเกม Optimized for Xbox Series X/S / Xbox One X Enhanced games / Xbox One games และ Xbox 360 Xbox games ตัวเกมสามารถจัดเรียงตามตัวอักษร ขนาดไฟล์เกม เกมที่เปิดล่าสุด เกมที่อัพเดทล่าสุดได้อีกด้วย
เมนูการปิดเครื่องนี่สร้าง "ความงงเต็ก" ให้ผมตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเครื่อง เพราะแตกต่างจากทางฝั่ง PlayStation โดยสิ้นเชิง ซึ่งปกติแล้วถนัดการปิดผ่านจอย แต่ฝั่ง XBOX การปิดผ่านจอยโดยการกดโลโก้ XBOX ค้างแล้วเลือก Shutdown นั้น กลับไม่ใช่การปิดเครื่องอย่างที่เข้าใจแต่อย่างใด เป็นแค่การ Sleep Mode เท่านั้น ดังนั้นหากต้องการปิดเครื่องแบบสนิทใจ ต้องเข้าไปที่เมนู Settings - General - Sleep mode & startup - Full shutdown ถึงจะเป็นการปิดเครื่องแบบสมบูรณ์ครับ
การติดตั้งเกม
การติดตั้งเกม สามารถติดตั้งได้บน SSD ในเครื่อง SSD Expansion Card และ External HDD แต่มีเพียงเกม Optimized for Xbox Series X/S เท่านั้นที่สามารถติดตั้งได้เฉพาะบน SSD ในเครื่อง และ SSD Expansion Card เท่านั้น ไม่สามารถติดตั้งเพื่อเล่นเกมบน External HDD ได้ ทำได้แค่การโหลดไปพักไว้ใน External HDD ซึ่งหากต้องการเล่นเกม ต้องย้ายไฟล์มาติดตั้งบน SSD ของเครื่อง เช่นเดียวกับ PlayStation 5
การติดตั้งเกม Optimized for Xbox Series X/S สามารถติดตั้งได้บน SSD ในเครื่องเท่านั้น
โดยความจุของ SSD ที่ติดเครื่องมานั้นจะอยู่ที่ 1TB แต่เป็นพื้นที่ติดตั้งเกมได้จริงอยู่ที่ 802GB แต่ทั้งนี้ตัวเครื่อง XBOX SERIES X และ S ก็มีช่อง Storage Expansion ว่าง ๆ มาให้ 1 ช่อง ซึ่งเราสามารถหาซื้อตัว Expansion Card อัพเกรดความจุเพิ่มเติมได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีเพียง Seagate เพียงเจ้าเดียวเท่านั้น ที่ได้รับสิทธิ์การผลิตตัว SSD Expansion Card จาก Microsoft
เรื่องระยะเวลาในการโหลดเข้าเกม หรือ Loading Time ผมบอกเลยว่าเป็นอะไรที่แฮปปี้มากๆ ถ้าติดตั้งเกมบน SSD ในของเครื่อง จะโหลดเกมเร็วมาก บางเกมแทบไม่เห็นหน้า Loading เลยด้วยซ้ำ ส่วนถ้าเล่นเกม จาก Ext.HDD นั้นความเร็วในการ Loading ก็ใช้เวลาพอสมควร แต่ไม่ได้รอนานมาก
อีกสิ่งหนึ่งที่ประทับใจคือฟีเจอร์ Quick Resume ที่ทำให้คุณสามารถสลับเกมเล่นได้ เมื่อกลับมาเล่นเกมเดิมอีกที ก็จะกลับมาจุดก่อนที่คุณเปลี่ยนไปเล่นเกมก่อนหน้าได้ทันที และฟีเจอร์นี้ถึง Shutdown เครื่องไปแล้ว ก็ยังสามารถกลับมาเล่นเกม ณ จุดล่าสุดได้อีกด้วย
กราฟฟิคและเฟรมเรตของเกม
XBOX SERIES X สามารถความละเอียดบนหน้าจอได้ตั้งแต่ Full HD 1080p / 2K 1440p และ 4K UHD รวมไปถึงการรองรับ HDR10 และ Dolby Vision ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจอ TV หรือ Monitor ว่ารองรับได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากคุณเชื่อมต่อผ่าน HDMI 2.1 บน TV และ Monitor ที่รองรับ มันสามารถรันความละเอียดได้ถึง 4K 120Hz เลยทีเดียว (ซึ่งการแสดงผลได้ถึง 120Hz นั้นขึ้นอยู่กับเกมว่าถูกพัฒนามารองรับหรือไม่) ด้านกราฟฟิคและเฟรมเรตของเกมบน XBOX SERIES X เท่าที่ผมได้ทำการทดสอบกับเกมหลาย ๆ เกม ก็ให้ผลที่น่าพึงพอใจ เมื่อเทียบกับ PlayStation 5 แม้ตัวรายละเอียด Texture ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่ที่เห็นได้ชัดคือในเรื่องของเฟรมเรต ที่บางเกมให้เฟรมเรตที่ลื่นไหลมาก ไม่มีสะดุดแม้แต่น้อย โดย ผมลองกับเกม Call of Duty Vanguard / Cyberpunk 2077 / Resident Evil Village หรือแม้แต่เกมเก่าอย่าง Red Dead Redemption มันให้เฟรมเรตที่ลื่นไหลและเนียนตามาก ๆ (60FPS) และ Call of Duty Vanguard สามารถแสดงภาพระดับ 120Hz เลยทีเดียวหากจอรองรับ แต่การเปิดฟังก์ชั่นนี้ อาจจะทำให้ไม่รองรับ HDR ครับ
การระบายความร้อนเครื่อง
ในจุดนี้บอกเลยว่าทำออกมาดีมาก ๆ สำหรับการระบายความร้อนของเครื่อง เพราะดูดลมเย็นจากทางด้านหลังเครื่องและเป่าลมร้อนออกทางด้านบนเครื่องตามหลักระบายความร้อนที่มวลอากาศร้อนลอยขึ้นที่สูง เพราะผมลองเล่นเกมยาวต่อเนื่องเกือบ 7 ชั่วโมง ลองจับ ๆ ดูพบว่าตัวเครื่องไม่ค่อยมีความร้อนสะสมภายในมากมายเท่าไหร่ อานิสงค์จากพัดลมและฮีตซิงค์ขนาดใหญ่ภายในเครื่องที่มันสามารถปัดเป่าความร้อนออกมาได้ดี จับตัวเครื่องดูก็แค่อุ่น ๆ เท่านั้น ส่วนพัดลมต้องบอกเลยว่าทำงานได้เงียบมาก จนต้องชะโงกหน้าไปดูว่ามันยังหมุนปกติดีหรือเปล่า
สรุป
XBOX SERIES X ถือว่าเป็นเครื่องเล่นเกม Next Generation ที่ให้ความรู้สึกว่ามันคือเครื่อง Next Gen จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสเปกที่แรงขึ้นอัพเกรดมาเพื่อให้ประสิทธิภาพเล่นเกมที่ลื่นไหลมากขึ้น กราฟฟิคสวยงามขึ้น ประสิทธิภาพการระบายความร้อนที่ดีขึ้นกว่าเดิม หากใครยังช้ำใจจากการจองเครื่อง PlayStation 5 และไม่อยากซื้อเครื่องรีเซลแล้ว XBOX SERIES X ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับชาวเกมเมอร์อย่างเรา หากเราไม่ยึดติดกับเกม Exclusive ของฝั่ง PlayStation จนมากเกินไปครับ
จุดเด่น
- ดีไซน์เครื่องออกมาเหลี่ยม ๆ ดำ ๆ แต่ยังให้ความสวยงาม ล้ำสมัย และระบายความร้อนได้ดีมาก
- สเปกเครื่องที่แรงขึ้น เฟรมเรตที่ดีขึ้น รองรับ Ray Tracing เพิ่มการสะท้อนวัตถุภายในเกมให้สมจริงยิ่งขึ้น
- สามารถหาซื้อ Storage Expansion มาเพิ่มความจุในการติดตั้งเกมได้ง่าย เพียงแค่เสียบด้านหลัง ไม่ต้องแกะเครื่อง
- Quick Resume ที่ทำให้คุณสามารถสลับเกมเล่นได้ เมื่อกลับมาเล่นเกมเดิมอีกที ก็จะกลับมาจุดก่อนที่คุณเปลี่ยนไปเล่นเกมก่อนหน้าได้ทันที โดยไม่ต้องเข้าเกมใหม่
- XBOX Game Pass Ultimate สุดคุ้ม เป็นสมาชิกแล้ว ได้เล่นเกมเป็นร้อย
ข้อสังเกต
- ตัวเครื่องเป็นพลาสติกดำด้าน แต่เป็นคราบมันจากนิ้วมือได้ง่าย แต่ก็สามารถใช้ผ้าเช็ดออกได้ง่าย
- วัสดุตัวเครื่องที่เป็นพลาสติก ABS ที่แข็งแรง ทนทาน แต่เมื่อมองดูโดยผ่านแสงไฟ ที่พื้นผิวจะเหมือนมีชั้นพลาสติกที่ไม่สม่ำเสมออยู่บ้างเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากการฉีดขึ้น Mole แต่ถ้าไม่ได้สังเกตอะไรมากหรือฉายไฟตรง ๆ ก็แทบไม่เห็นในส่วนนี้ครับ
- ตัวจอย หากใช้แบตเตอรี่อัลคาไลน์ปกติทั่วไป แบตจะหมดค่อนข้างเร็วกว่าแบตเตอรี่แบบชาร์จได้ ดังนั้นแนะนำให้หาแบตเตอรี่แบบชาร์จได้ หรือ Battery Pack ดีกว่า
- ตัวจอยค่อนข้างมีเสียงดังเวลากดปุ่มต่าง ๆ รวมไปถึงการโยก Analog Stick ซึ่งฝั่ง PlayStation ทำได้ดีกว่ามากทั้งเรื่องการประกอบและฟีเจอร์ที่อัดแน่น
หมายเหตุ : รีวิวนี้เป็น Consumer Review (CR) ผู้เขียนได้ทำการสั่งซื้อสินค้าและชำระเงินซื้อด้วยตนเองแบบผู้ใช้งานทั่วไป ไม่มีบุคคลหรือแบรนด์สนับสนุนส่งสินค้าสำหรับรีวิวแต่อย่างใด